ตอนนี้ เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งสภาพอากาศแบบนี้ มักเป็นเป็นสภาวะที่เหมาะแก่การเพาะตัวและเติบโตของเชื้อโรคเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก อายุตั้งแต่ 0-3 ขวบ ซึ่งมักพบว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคในช่วงนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กในช่วงวัยนี้ ยังไม่ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าใดนัก ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรต้องระมัดระวังในการดูแลสุขอนามัยของเด็กๆ เป็นพิเศษ โดย โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบได้บ่อยมากในช่วงนี้ มีดังต่อไปนี้
อาหารเป็นพิษ
เป็นปัญหาที่เด็กๆ มักจะเผชิญในช่วงหน้าร้อน สาเหตุของโรคเกิดจากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เช่น ไวรัสโคโรนา ไวรัสอะดีโน ไวรัสโรตา และแบคทีเรียชนิดอีโคไล (Escherichia coli), สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) เป็นต้น โดยปกติแล้วอาหารเป็นพิษไม่เป็นอันตราย แต่อาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงได้ในบางกรณี เด็กๆ ที่มีอาการอาหารเป็นพิษจะมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องเป็นตะคริว และมีไข้ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเริ่มขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกินอาหารที่มีการปนเปื้อน หรืออาจเริ่มในอีกหลายวัน หากมีอาการรุนแรง ควรรีบพาไปพบหมอเพื่อตรวจรักษาอาการอย่างละเอียด
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก
เด็กๆ ที่สัมผัสกับสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงในการเกิดโรคลมแดดได้ โดยโรคลมแดด เป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น บางครั้งอุณหภูมิสูงขึ้นไปจนถึง 40 องศาหรือมากกว่านั้น ทำให้เกิดอาการมึนงง พูดไม่รู้เรื่อง เกิดอาการชัก มีเหงื่อออกจำนวนมากในระยะแรก อาเจียน ผิวแดง หน้าแดง หายใจถี่ หอบ มีอาการปวดหัว เมื่อเด็กๆ เป็นโรคนี้ ต้องได้รับการรักษาอย่างทันที หากช้าอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเต้นของหัวใจ ระบบหลอดเลือด สมอง และจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนมากขึ้น หรือที่แย่ไปกว่านั้นอาจทำให้ถึงชีวิตได้เลยทีเดียว หากพบว่าเด็กๆ มีอาการโรคลมแดด ควรพาเด็กไปในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวกและทำให้อุณหภูมิร่างกายของลูกต่ำลงโดยใช้เจลเย็นหรือน้ำแข็งประคบ แต่ทางที่ดีในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ก็ควรจะให้เด็กหลีกเลี่ยงการอยู่สภาพอากาศที่ร้อนจัดจะดีกว่า
โรคผิวหนัง ผด ผื่น
ในช่วงที่อากาศร้อนเช่นนี้ เป็นธรรมดาที่เด็กๆ จะเกิดผื่นแดงจากความร้อน เนื่องจากผิวของทารกและเด็กมีความไวต่อสิ่งเร้าได้ง่าย เมื่อสัมผัสกับอากาศร้อนและเหงื่อออกมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผื่นแดง ผดผื่นแดง ผื่นความร้อน ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการคันและทำให้เกิดรอยแดงเล็กๆ แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีอาการเจ็บปวด
ในเด็กทารก ผดผื่นจากความร้อน มักจะเกิดบริเวณคอ รักแร้ ข้อศอก และขาหนีบ ส่วนเด็กโตสามารถเกิดขึ้นได้ที่หน้าอกและหลัง ผื่นความร้อน จะหายไปภายในสองสามวัน อันดับแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ ควรให้เด็กอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดบริเวณที่ผื่นขึ้น เพื่อเช็ดให้เหงื่อและน้ำมันบนผิวส่วนเกินออกไป หากผ่านไป 2-3 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีไข้หรือหนาวสั่น ปวด บวมแดง ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ คอหรือขาหนีบบวมร่วมด้วย ควรไปพบหมอ หนึ่งในวิธีป้องกันผดผื่นคันที่แนะนำคือ ควรให้ลูกสวมใส่ผ้าที่ระบายอากาศได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดเหงื่อ และรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ร่างกายจึงไวต่อการแพ้และไวต่อเชื้อโรค จึงต้องมีการดูแลกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน